ทีม U2T ม.ราชภัฏเลยเลย คว้าแชมป์ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กลุ่ม พลังงานและวัสดุ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเจ๋ง ชนะเลิศประกวดนวัตกรรม เปลี่ยนขยะ เศษเปลือกมะพร้าวแก้วเชียงคานกลายเป็นเงิน
 
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมราชาวดีรีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น การแข่งขัน U2T for BCG HACKATHON 2022 ระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) เพื่อค้นหานวัตกรรมจากภูมิภาคสู่ระดับประเทศ เพิ่มศักยภาพและยกระดับด้วย BCG Model ผ่านองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4 ด้านหลัก คือ ด้านอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture) , ด้าน การแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness) , ด้านพลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมี (Bioenergy, Biomaterial and Biochemic) และด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tourism and Creative Economy) จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น
การแข่งขันครั้งนี้ ทีม CHIANGKHAN Story U2T ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้นำบุคลากรจ้างงานจากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกได้เป็นตัวแทนระดับจังหวัด พร้อมด้วยทีม Homemade หนองคันพันล้าน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชา สมจันทร์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และนายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน เป็นที่ปรึกษาโครงการ
 
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีม CHIANGKHAN Story U2T ได้รับรางวัลชนะเลิศ กลุ่มพลังงานและวัสดุ (Bioenergy, Biomaterial and Biochemic) ด้วยผลงาน CoCo peat วัสดุปลูกรักษ์โลก รักษ์ชุมชน “เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน” ประสานพลังผู้ประกอบการผลิตมะพร้าวแก้ว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนโลก Top 100 Destination พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคานสู่สากล ขานรับนโยบายของจังหวัดเลย “เมืองแห่งสุขภาพ” โดยทีมCHIANGKHAN Story U2T จะไปแข่งขันระดับประเทศ ในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชชา สมจันทร์ กล่าวว่า อำเภอเชียงคานเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวแก้ว เป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก วัตถุดิบหลักคือมะพร้าว ทำให้มีเปลือและกะลามะพร้าวปริมาณมาก ถูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ คณะทำงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จึงได้การนำเศษเปลือกและกะลามะพร้าวมาสร้างผลิตภัณฑ์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำวัสดุของเหลือใช้ในการผลิตมะพร้าวแก้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวแก้ปัญหามลพิษของชุมชนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเศษเปลือกและกะลามะพร้าว ผ่านการบดย่อยด้วยเครื่องจักรและปรับค่า pH ลดกรดจากสารแทนนิน ก่อนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุปลูกคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์อื่นของชุมชนต่อไป